ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์
ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์
ประวัติและผลงาน
ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ เกิดเมื่อวันที่ ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๐ ที่บ้านข้างวัดอรุณราชวราราม บางกอกใหญ่ ธนบุรี เป็นบุตรของมหาอำมาตย์ตรี พระยาธรรมสาร เวทย์วิเศษภักดี วัตตาพิริยพาหะ (ทองดี ธรรมศักดิ์) กับคุณหญิงชื่น ธรรมศักดิ์เข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนอัสสัมชัน ปี ๒๔๕๗ สำเร็จชั้น ๖ อังกฤษ (มัธยมบริบูรณ์) ปี ๒๔๖๘ ได้ศึกษาต่อที่โรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรม จำนวน ๓ ปี จึงสำเร็จเป็นเนติบัณฑิต ในปี ๒๔๗๑ ในปีต่อมาจึงสอบแข่งขันได้คะแนนสูงสุดและได้ทุนเล่าเรียน “รพีบุญนิธิ” ไปศึกษาวิชากฎหมายตอในประเทศอังกฤษเป็นเวลา ๓ ปี สอบได้ตามหลักสูตรเนติบัณฑิตอังกฤษเมื่อปี ๒๔๗๕ นอกจากนี้ระหว่างที่อุปสมบทอยู่ที่วัดเบญจมบพิตร สามารถสอบไล่ได้นักธรรมชั้นตรีเป็นที่ ๑ จากนั้นสมรสกับท่านผู้หญิงพะงา ธรรมศักดิ์ (เพ็ญชาติ) เมื่อวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๔๗๗ มีบุตรด้วยกัน ๒ คน คือ นายชาติศักดิ์ ธรรมศักดิ์ และนพ.จักรธรรม ธรรมศักดิ์
เข้ารับราชการเมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๔๖๘ ในตำแหน่งนักเรียนล่าม กรมบัญชาการ (กองล่าม) กระทรวงยุติธรรม เนื่องจากมีความตั้งใจจะเป็นตุลาการตามอย่างบิดา จึงเริ่มตั้งแต่เป็นผู้พิพากษาฝึกหัดไต่ไปจนถึงตำแหน่งสูงสุดเป็นปลัดกระทรวงยุติธรรม ปี ๒๔๙๖ เป็นผู้พิพากษาศาลฎีกา ปี ๒๕๐๑ เป็นประธานศาลฎีกา ปี ๒๕๐๖ และเกษียณอายุในปี ๒๕๑๐
หากมองเห็นความเกี่ยวพันกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข อำนาจอธิปไตยทั้งเนติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ล้วนแล้วแต่เคยเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องด้วยทั้งสิ้น เช่น รองประธานสภานิติบัญญัติทำหน้าที่สภาร่างรัฐธรรมนูญ นายกรัฐมนตรี ประธานศาลฎีกา ประธานองคมนตรี ซึ่งเป็นตำแหน่งที่สำคัญมาก เพราะต้องเป็นผู้ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไว้วางพระราชหฤทัยเป็นอย่างสูงจึงจะดำรงตำแหน่งนี้ได้
ในขณะที่ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ดำรงตำแหน่งเป็นช่วงที่นิสิต นักศึกษา และกลุ่มพลังต่าง ๆ ได้เรียกร้อง และสร้างความกดดันต่อรัฐบาลโดยตลอด จนกระทั่งศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ต้องลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไปคราวหนึ่งเมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๑๗ แต่ได้รับการยืนยันจากสถาบันนิติบัญญัติแห่งชาติให้ดำรงตำแหน่งต่อไปอีกครั้งหนึ่งจนกระทั่งการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นภารกิจสำคัญของรัฐบาลได้เสร็จสิ้นลง คณะรัฐบาลของศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ จึงได้สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ ๒๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๑๘ ด้วยความสนใจในเรื่องพระพุทธศาสนา หลังจากศึกษาที่ประเทศอังกฤษแล้ว ก็เป็นหนึ่งในสามบุคคลที่เริ่มก่อตั้งพุทธสมาคมแห่งประเทศไทย (เดิมชื่อว่าพุทธธรรมสมาคม) ขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๗๗ โดยท่านดำรงตั้งแต่เลขานุการสมาคมจนถึงนายกสมาคม ฯ นอกจากนี้ในช่วงเวลาหนึ่งท่านยังได้รับเลือกจากนานาชาติให้เป็นรองประธานองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (พ.ส.ล.) ทำหน้าที่แทนประธานองค์การ ฯ อีกด้วย และในปี พ.ศ. ๒๕๒๗ ท่านก็ได้รับเลือกให้เป็นประธานองค์การฯ
ด้านชีวิตส่วนตัว ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นคนที่ชอบเข้าวัดเป็นอย่างมาก และชอบเข้าไปในที่สงบสติอารมณ์ในวัด โดยเฉพาะในวันเบญจมบพิตรที่ท่านเคยบวช ท่านถือว่าศีลธรรมเป็นสิ่งสำคัญมาก จนบางครั้งมีคนเรียกท่านว่า หลวงตา
ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ มีคุณธรรมที่ควรยึดถือเป็นแบบอย่างหลายประการ ดังนี้
๑. เป็นผู้ใฝ่เรียนใฝ่รู้และขยันหมั่นเพียร จะเห็นว่า ตั้งแต่วัยศึกษาเป็นต้นมา ท่านจะเป็นคนที่ตั้งใจศึกษาเล่าเรียน ขยันหมั่นเพียร ศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมอย่างสม่ำเสมอ จนผลการเรียนออกมาเป็นที่น่าพอใจเป็นอย่างมาก เช่น สอบแข็งขันได้คะแนนสูงสุด และได้รับทุนเล่าเรียนระพีมูลนิธิไปศึกษาวิชากฎหมายที่ประเทศอังกฤษ สอบไล่ได้นักธรรมชั้นตรีได้เป็นอันดับที่ ๑ เป็นต้น
๒. เป็นผู้ที่ทรงคุณธรรม โดยเฉพาะเรื่องเมตตาและความซื่อสัตย์สุจริต
๓. เป็นผู้ที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ดังจะเห็นจากการคิดริเริ่มก่อตั้งพุทธสมาคมแห่งประเทศไทย เพื่อให้เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่เผยแผ่พระพุทธศาสนาให้กว้างขวางออกไป