
พระประวัติ พระนางมหาปชาบดี
เป็นพระราชธิดาของพระเจ้าอัญชนะแห่งโกลิยวงศ์ เป็นพระกนิษฐภคินี(พระน้องนาง) ของพระนางสิริมหามายา และทรงเป็นพระน้านางของพระพุทธเจ้าเมื่อพระนางสิริมหามายาประสูติเจ้าชายสิทธัตถะได้ ๗ วันก็สิ้นพระชนม์ พระเจ้าสุทโธทนะจึงทรงตั้งพระนางมหาปชาบดีไว้ในตำแหน่งอัครมเหสีและได้ทรงมอบหน้าที่การเลี้ยงดูเจ้าชายสิทธัตถะให้กับพระนาง ซึ่งพระนางก็ได้ทรงเลี้ยงดูพระกุมารเป็นอย่างดียิ่งกว่าเจ้าชายนันทะและเจ้าหญิงนันทาผู้เป็นพระโอรสและพระธิดาของพระนางเอง
เมื่อคราวที่พระพุทธเจ้าได้เสด็จไปโปรดพระพุทธบิดาและพระประยูรญาติที่กรุงกบิลพัสดุ์ พระองค์ได้เสด็จประทับอยู่ ณ นิโครธาราม ใกล้กรุงกบิลพัสดุ์ พระนางมหาปชาบดีได้เข้าไปเฝ้าและกราบทูลขอบรรพชา พระพุทธเจ้าไม่ทรงอนุญาต แม้จะกราบทูลถึง ๓ ครั้งก็ตาม ก็มิได้ทรงอนุญาตด้วยมีเหตุผลว่าสตรีไม่ควรบรรพชา ทำให้พระนางเกิดความทุกข์เสียพระทัยเป็นอย่างยิ่ง แต่ถึงกระนั้นพระนางก็มิได้ย่อท้อ มีพระทัยมุ่งมั่นต่อการบรรพชาเพียงอย่างเดียว
ในเวลาต่อมา เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน ใกล้กรุงเวสาลี แคว้นวัชชี พระนางมหาปชาบดีโคตมีพร้อมด้วยเจ้าหญิงศากยะเป็นจำนวนมาก ได้ทรงปลงพระเกศา นุ่งห่มผ้าย้อมด้วยน้ำฝาดได้เสด็จไปยังที่ประทับของพระพุทธเจ้าด้วยพระบาทเปล่าเพื่อทูลขอบรรพชา เมื่อเสด็จไปถึงได้ประทับยืน ณ ภายนอกซุ้มประตู เมื่อพระอานนท์เห็นพระนาง ถามทราบความประสงค์แล้ว เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าทูลขอให้ทรงอนุญาตการบรรพชาแก่พระนาง พระพุทธเจ้าทรงปฏิเสธ ถึงแม้พระอานนท์จะทูลขอถึงสามครั้งก็ตามพระอานนท์จึงกราบทูลถามว่า สตรีเมื่อได้บวชแล้วจะสามารถสำเร็จมรรคผลได้หรือไม่ พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่ามีสิทธิ์สำเร็จมรรคผลได้พระอานนท์จึงกราบทูลพระพุทธเจ้าให้ทรงเห็นแก่พระนางมหาปชาบดีที่เคยทรงอบรมเลี้ยงดูมาตั้งแต่ครั้งยังทรงพระเยาว์ถือว่าทรงมีคุณูปการแก่พระพุทธเจ้าเป็นเอนกประการพระพุทธเจ้าตรัสว่า ถ้าพระนางมหาชาบดี ทรงรับครุธรรม ๘ ประการ ก็จักทรงให้อนุญาตให้บวชได้ ครุธรรม ๘ ประการ ได้แก่
๑. พระภิกษุณีแม้บวชแล้วได้ร้อยพรรษา ต้องเคารพนบไหว้พระภิกษุ แม้บวชใหม่ในวันนั้นพระภิกษุณีจะจำพรรษาอยู่โดดเดี่ยวโดยไม่มีพระภิกษุไม่ได้ต้องมีสำนักอยู่เป็นเอกเทศในเขตวัดที่มีพระภิกษุอยู่ด้วยหรือไม่ก็อยู่ใกล้หมู่บ้านที่สุด
๒. พระภิกษุณีจะจำพรรษาอยู่โดดเดี่ยวโดยไม่มีพระภิกษุไม่ได้ ต้องมีสำนักอยู่เป็นเอกเทศในเขตวัดที่มีพระภิกษุอยู่ด้วยหรือไม่ก็อยู่ใกล้หมู่บ้านที่สุด
๓. พระภิกษุณี ต้องปฏิบัติกิจ ๒ อย่างทุกครึ่งเดือน คือ สอบถามอุโบสถและรับโอวาทจากพระภิกษุสงฆ์
๔. พระภิกษุณีจำพรรษาแล้ว เวลาจะทำพิธีออกพรรษาด้วยการปวารณาต้องทำพิธีออกพรรษา ๒ ครั้ง คือ ทำพิธีในที่ประชุมสงฆ์ที่เป็นฝ่ายพระภิกษุณีและจะต้องทำในฝ่ายพระภิกษุสงฆ์ซ้ำอีกครั้งหนึ่ง
๕. พระภิกษุณีต้องอาบัติหนัก ต้องประพฤติมานัตในสงฆ์สองฝ่าย เป็นเวลา ๑๕ วัน
๖. ก่อนบวชเป็นพระภิกษุณี สตรีที่จะบวชร้องรักษาศีล ๖ ข้อ เป็นเวลา ๒ ปี ขาดไม่ได้ ถ้าขาดข้อหนึ่งข้อใดต้องเริ่มต้นนับเวลารักษาใหม่
๗. พระภิกษุณีจะต้องไม่บริภาษหรือด่าพระภิกษุ ไม่ว่ากรณีใด ๆ ทั้งสิ้น
๘. พระภิกษุณีต้องไม่สอนพระภิกษุ แต่จะเป็นฝ่ายรับการสอนจากพระภิกษุเท่านั้น
พระอานนท์ได้นำรายละเอียดของครุธรรม ๘ ประการไปบอกแก่พระนางมหาปชาบดีโคตมีเพื่อทรงทราบและพิจารณา พระนางพร้อมเจ้าหญิงศาสกยะทั้งหมดยอมรับครุธรรมแล้ว พระนางพร้อมด้วยเจ้าหญิงศากยะทั้งหมดจึงได้รับอุปสมบทเป็นพระภิกษุณีในพระพุทธศาสนา เมื่อพระนางได้อุปสมบทแล้วได้บำเพ็ญเพียรจนได้สำเร็จพระอรหันต์ พระพุทธเจ้าได้ทรงยกย่องพระนางว่าเป็นเอตทัคคะ คือ เลิศกว่าผู้อื่นในทางรัตตัญญู (คือ ผู้มีประสบการณ์มาก)
คุณธรรมที่ควรถือเป็นแบบอย่าง
๑. เป็นผู้มีความตั้งใจแน่วแน่ มีศรัทธาอย่างแรงกล้าในพระพุทธศาสนา คือ เมื่อพระนางมหาปชาบดีโคตมี มีความดำริที่จะทรงออกบวชแล้ว ก็มีพระทัยแน่วแน่ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคใด ๆ ถึงแม้พระพุทธเจ้าจะกำหนดหลักแห่งการประพฤติปฏิบัติอย่างหนักที่เรียกว่า ครุธรรม ๘ ประการก็ตาม พระนางก็ไม่ทรงย่อท้อ จนในที่สุดก็ได้รับการอนุญาตจากพระพุทธเจ้าให้ทรงบวชได้
๒. เป็นผู้มีความอ่อนน้อมอย่างยิ่ง ถึงแม้พระนางจะมีฐานะเป็นถึงพระมารดาเลี้ยงของพระพุทธเจ้าก็ตาม แต่พระนางก็ไม่ทรงเย่อหยิ่งถือพระองค์แต่ประการใด ตรงกันข้าม กลับมีความเคารพในพระพุทธเจ้าและหมู่พระภิกษุสงฆ์สาวกเป็นอย่างยิ่ง เห็นได้จากข้อปฏิบัติในครุธรรม ภิกษุณีแม้จะบวชได้ตั้งร้อยปีก็ยังคงกราบไหว้พระภิกษุผู้แม้บวชแล้วในวันนั้น นับได้ว่าพระนางเป็นผู้มีความอ่อนน้อมและปฏิบัติตามอย่างว่าง่าย
