สุวรรณหังสชาดก

ความเป็นมา พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภภิกษุณีชื่อถุลลนันทา ตรัสเรื่องนี้มีคำเริ่มต้นว่า ยํ ลทฺธํ เตน ตุฏฺฐพฺพํ ดังต่อไปนี้
อุบาสกคนหนึ่งในพระนครสาวัตถี ปวารณากระเทียมกับภิกษุณีสงฆ์ไว้ และสั่งกำชับคนเฝ้าไร่ว่าหากภิกษุณีทั้งหลายพากันมาจงถวายให้รูปละสองสามกำเถิด ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาพวกภิกษุณีเมื่อต้องการกระเทียมก็จะพากันไปที่บ้านหรือไร่ของเขาคราวหนึ่งมีวันมหรสพกระเทียมในเรือนของอุบาสกหมดลงภิกษุณีชื่อว่าถุลลนันทาพร้อมด้วยบริวารพากันไปที่เรือนของอุบาสกเมื่ออุบาสกนิมนต์ให้ไปเอากระเทียมที่ไร่ จึงพากันไปไร่ขนกระเทียมไปอย่างไม่รู้ประมาณ ถูกคนเฝ้าไร่ต่อว่า ต่อมาถูกพวกภิกษุณีด้วยกัน และพวกภิกษุทั้งหลายติเตียน
และเมื่อความทราบถึงพระพุทธเจ้าพระองค์ก็ทรงตำหนิ แล้วทรงนำอดีตนิทานมาตรัสว่าในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติ ณ พระนครพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดในสกุลพราหมณ์ เมื่อเจริญวัยแล้วได้สมรสกับหญิงสาวคนหนึ่ง ได้มีธิดาสามคนชื่อ นันทา นันทวดี และสุนันทา ต่อมาพระโพธิสัตว์ได้ทำไปเกิดเป็นหงษ์ทอง และมีญาณระลึกชาติได้ หงษ์ทองได้เห็นความลำบากของนางพราหมณีและพวกธิดามีประการต่าง ๆ ก็คิดสงสาร จึงบินไป ณ ที่นั้น เกาะที่ท้ายกระเดื่องพร้อมกับสลัดขนทองให้หนึ่งขนแล้วบินหนีไป นางพราหมณีพร้อมธิดาก็นำขนทองนั้นไปขายเลี้ยงชีวิต หงษ์ทองก็มาเป็นระยะ ๆ สลัดขนให้ครั้งละหนึ่งขนและนางก็ได้นำไปขายเป็นประจำตลอดมา จนมีฐานะมั่งคั่งขึ้นมีความสุขความสบายตามสมควรอยู่มาวันหนึ่งนางได้ปรึกษากับลูก ๆ และเห็นว่าขึ้นชื่อว่าพวกดิรัจฉานรู้จิตใจได้ยาก หงษ์ทองอาจจะไม่มาสลัดขนในที่นี้อีก จำเป็นที่จะต้องจับหงษ์ทองมาถอนขนให้หมด เมื่อลูก ๆ ไม่ตกลง แต่เพราะนางมีความโลภมาก ครั้นวันหนึ่งเมื่อหงษ์ทองมาสลัดขนให้ก็ได้รวบหงษ์ทองนั้นไว้พร้อมกับถอนขนออกจนหมดแต่เพราะหงษ์ทองมิได้ปลงใจให้ทำให้ขนเหล่านั้นจึงเป็นเหมือนขนนกยางไปเสียหมด
หงษ์ทองเมื่อถูกถอนขนไปจนหมดก็ไม่สามารถกางปีกบินได้ นางจึงเอาใส่ตุ่มใหญ่เลี้ยงไว้ ขนที่งอกขึ้นใหม่ก็กลายเป็นขาวไปหมด ครั้นเมื่อขนขึ้นเต็มที่แล้วหงษ์ตัวนั้นก็จึงบินหนีไปพระพุทธเจ้าทรงนำอดีตนิทานมาแล้ว ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น ที่ถุลลนันทามีความปรารถนาใหญ่ แม้ในครั้งก่อนก็มีความปรารถนาใหญ่เหมือนกัน และเพราะอาศัยเหตุนี้ พระองค์จึงทรงบัญญัติสิกขาบทห้ามภิกษุณีฉันกระเทียม ภิกษุณีใดฉันกระเทียม ภิกษุณีนั้นต้องอาบัติปาจิตตีย์
คติธรรมจากสุวรรณหังชาดก ได้แก่ บุคคลได้สิ่งใด ควรยินดีสิ่งนั้น ขึ้นชื่อว่าบุคคลผู้โลภมาก มิได้เป็นที่รักเจริญใจ แม้แก่มารดาบังเกิดเกล้า ไม่อาจจะยังผู้ที่ไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส ไม่อาจยังผู้ที่เลื่อมใสแล้วให้เลื่อมใสยิ่งขึ้น ไม่อาจยังลาภที่ยังไม่เกิดให้บังเกิด หรือลาภที่เกิดแล้วก็ไม่อาจกระทำให้ยั่งยืนได้


|