
พระเจ้าปเสนทิโกศล
ประวัติและผลงาน
พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงเป็นโอรสของพระเจ้ามหาโกศล ผู้ครองนครองสาวัตถี แห่งแคว้นโกศล ทรงศึกษาศิลปวิทยาในสำนักอาจารย์ทิศาปาโมกข์ตั้งแต่ทรงพระเยาว์ เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วได้เสด็จกลับไปครองราชย์สมบัติ ณ กรุงสาวัตถี
วันหนึ่งขณะที่ประทับยืนบนปราสาท พระเจ้าปเสนทิโกศลทอดพระเนตรเห็นพระภิกษุสงฆ์หลายพันรูปไปฉันภัตตาหารในคฤหาสน์ของอนาถบิณฑิก ได้เกิดพระราชประสงค์จะถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุสงฆ์ จากนั้นทรงนิมนต์พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยหมู่ภิกษุให้มาฉันภัตตาหารในพระราชวังตลอด ๗ วัน พระเจ้าปเสนทิโกศลยังได้กราบทูลพระพุทธเจ้าขอให้ส่งพระภิกษุไปฉันภัตตาหารในพระราชวังเป็นประจำ
พระจริยาวัตรที่ควรนับถือเป็นแบบอย่างของพระเจ้าปเสนทิโกศล
๑. ทรงเป็นผู้ที่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา พยายามหาทางขวานขวายเพื่อให้ได้เข้าใกล้พระพุทธศาสนาและพระพุทธเจ้าอยู่เสมอ
๒. เป็นผู้มีศรัทธาต่อพระพุทธเจ้าอย่างแท้จริง เห็นได้จากเมื่อพระเจ้าปเสนทิโกสลทรงทราบว่านางวาสภขัตติยาไม่ได้อยู่ในวรรณะเดียวกับพระองค์ก็ทรงโกรธ รับสั่งให้ริบเครื่องบำรุงตามแบบกษัตริย์ทั้งแม่และลูก แต่เมื่อได้ไปกราบทูลพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทรงตรัสแนะนำชี้แจงว่าโคตรของบิดาย่อมสำคัญกว่า นางวาสภขัตติยาและวิฑูฑภะก็มีพระบิดาเป็นกษัตริย์ พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงพอพระทัยและทรงเชื่อในคำชี้แจงของพระพุทธเจ้า จึงสั่งให้คืนเครื่องบำรุงแก่พระมเหสีและพระโอรส
๓. เป็นผู้ฝักใฝ่ในการทำบุญและส่งเสริมให้พสกนิกรได้ทำบุญด้วย เห็นได้จากการที่พระองค์ทรงจัดให้มีการแข่งขันทำบุญ รวมไปถึงการขอให้พระเจ้าพิมพิสารทรงส่งคนมีบุญไปอยู่แคว้นดกสลซึ่งเป็นสถานที่ที่มีผู้มีบุญไม่มากอยู่ โดยพระเจ้าพิมพิสารได้ส่ง “ธนัญชัยเศรษฐี” ไปอยู่ในแคว้นดังกล่าว
คุณธรรมที่ควรยึดถือเป็นแบบอย่าง
พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงมีคุณธรรมที่ควรถือเป็นแบบอย่างหลายประการ ดังนี้
๑. ทรงเป็นผู้ที่ใฝ่เรียนใฝ่รู้ กล่าวคือ ในสมัยทรงเป็นพระราชกุมาร ทรงสนพระทัยในการศึกษามาก ทรงฉลาดและมีไหวพริบ เมื่อทรงศึกษาจบสามารถแสดงศิลปวิทยาที่ได้ทรงศึกษามาจนเป็นที่พอพระทัยของพระบิดา ต่อมาก็ทรงได้รับการอภิเษกให้เป็นพระราชาตั้งแต่บิดาทรงยังมีพระชนม์อยู่
๒. ทรงเป็นผู้ที่หนักแน่นในเหตุผล คือ ทรงเชื่อฟังผู้ที่มีเหตุผลดีกว่า เมื่อทรงตัดสินพระทัยผิดในบางครั้งได้รับการทักท้วงจากพระนางมัลลิกา หรือพระพุทธเจ้า ก็ทรงเชื่อฟังและปฏิบัติตาม
๓. ทรงเป็นผู้ไม่ถือตน แม้จะทรงเป็นถึงพระมหากษัตริย์ปกครองแคว้นที่เป็นมหาอำนาจแต่ก็ทรงปฏิบัติพระองค์คล้าย ๆ กับสามัญชน เสด็จไปที่ใดอย่างธรรมดาไม่มีพิธีรีตอง จึงทราบความเป็นอยู่ของราษฎร และความเป็นไปในราชอาณาจักร
๔. ทรงมีศรัทธาในพระรัตนตรัยอย่างมั่นคง โดยทรงมีความเลื่อมใสในพระรัตนตรัยทรงเอาพระทัยใส่และให้ความอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธเจ้า พระภิกษุสงฆ์ พระภิกษุณี และเหล่าสามเณรสามเณรี เป็นอย่างดีตลอดพระชนม์ชีพ
