

ภาคแรก กำเนิดพระพุทธรูป
ศิลปะและ โบราณวัตถุสถานเกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนานั้น พบหลักฐานว่าเริ่มเกิดมีขึ้นในอินเดียครั้งพระเจ้าอโศกมหาราช (พ.ศ. ๒๗๐ - ๓๑๑) ซึ่งเป็นกษัตริย์องค์ที่ ๓ ในราชวงศ์โมริย ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาและได้ทรงอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนาเป็นอันมาก ถึงกับยกพระพุทธศาสนาขึ้นเป็นศาสนาสำหรับอาณาจักร ได้ทรงสร้างพุทธเจดีย์สถานไว้หลายแห่ง
แต่ในอินเดียในสมัยโบราณยังมีข้อห้ามมิให้ทำรูปคนสำหรับเคารพ คือไม่ทำรูปพระพุทธองค์เป็นรูปมนุษย์ จึงทำแต่รูปอื่นเป็นสัญลักษณ์ขึ้นแทนเช่น ปางมหาภิเนษกรมณ์ ก็ทำเป็นรูปม้าผูกเครื่องไม่มีคนขับขี่ ปางประทานปฐมเทศนาทำเป็นรูปธรรมจักรมีรูปกวางหมอบอันหมายความว่า ทรงแสดงพระธรรมจักรในมฤคทายวัน ปางประสูติก็ทำรูปพระนางศิริมหามายากำลังประทับนั่งหรือยืนอยู่บนดอกบัว มีช้างสองเชือกถือน้ำเต้าหรือปูรณฆฎะ(หม้อที่เต็มไปด้วยน้ำอันล้น หมายถึงความมั่งคั่งสมบูรณ์)เทลงบนเศียรของนางกษัตริย์ ดังที่ปรากฏอยู่ที่พระมหาสถูปสาญจี
รูปพระพุทธองค์ที่ทำเป็นรูปมนุษย์เกิดขึ้นภายหลังพุทธศตวรรษที ๖ เล็กน้อย เป็นฝีมือช่างแคว้นคันธาระปัจจุบันอยู่ในเขตปากีสถานและอาฟกานิสถาน กับที่เป็นฝีมือช่างเมืองมธุรา หลังจากนั้นเพียงเล็กน้อยก็เกิดสกุลช่างขึ้นอีกสกุลหนึ่ง ณ เมืองอมรวดี ทางภาคใต้ของอินเดีย
นักปราชญ์บางท่านกล่าวว่า พระพุทธรูปแรกเกิดขึ้นในรัชกาลพระเจ้ากนิษกะ แห่งราชวงศ์กุษาณะ ซึ่งครองราชย์สมบัติระหว่าง พ.ศ. ๖๖๒ - ๗๐๖ และนับเป็นฝีมือช่างกรีกโรมัน เชื่อกันว่าได้รับอิทธิพลและได้ช่างผู้ประดิษฐ์พระพุทธรูปมาจากทางเอเชียตะวันตก เหตุที่ได้สร้างพระพุทธรูปขึ้นจนเวลาล่วงเลยจากพุทธปรินิพพานมานานเช่นนี้ ลักษณะพระพุทธรูปจึงเป็นลักษณะที่ทำตามความคิดฝัน เพื่อเป็นพุทธานุสติให้บุคคลที่ได้เห็นแล้วระลึกถึงพระพุทธเจ้าผู้เป็นเจ้าของพระพุทธศาสนา เพื่อจะได้น้อมใจให้ประพฤติตามคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ มิใช่ทำให้เหมือนองค์พระพุทธเจ้า เมื่อเกิดพระพุทธรูปแล้ว ต่อมามีผู้นิยมสร้างกันแพร่หลายจนถึงปัจจุบัน และคิดทำเป็นพระพุทธรูปเป็นปางต่างๆหลายปาง พระพุทธรูปที่ทำเป็นปางต่างๆนั้นหมายถึงเรื่องราวตอนนั้นๆ ในพุทธประวัติ (ปาง พจนานุกรมฉบับราชบัณทิตยสถานให้ความหมายว่า(น.)ครั้งหรือเมื่อ ดังนั้นเมื่อใช้กับพระพุทธรูป ซึ่งเป็นตัวแทนพระพุทธเจ้า จึงหมายความว่า พระพุทธองค์เมื่อครั้ง.,. หรือเป็นพระพุทธรูปที่แสดงประวัติตอนหนึ่งของพระพุทธองค์ ขณะที่ทรงมีสภาวะเป็นมนุษย์) แต่บางทีก็หมายถึงท่าทางหรืออริยบถ เช่นปางประทานอภัย และปางประทานพร เป็นการแสดงที่ใช้ในงานพุทธศิลป์แสดงท่วงท่าที่พระหัตถ์ที่ยืมจากความหมายสัญลักษณ์ของพราหมณ์ที่เรียก มุทรา
สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ทรงอธิบายว่า “ปางบางปางนั้นเอามาจาก มุทราของพราหมณ์หาใช่ปางไม่ เป็นเพียงกิริยาเท่านั้น ซึ่งน่าจะเรียกว่าท่าแต่โบราณเขาไม่เรียกกัน ก็เพราะคำว่าท่าอาจส่อไปในทางหยาบคายได้

|