อริยสัจ ๔
อริยสัจ ๔ หมายถึง หลักความจริงอันประเสริฐ ความจริงของพระอริยะ ความจริงที่ทำให้ผู้เข้าถึงกลายเป็นอริยะ มี ๔ ประการ ซึ่งประกอบด้วย ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้อริยสัจ ๔ และนำมาสั่งสอนเพื่อให้ผู้ปฏิบัติหลุดพ้นจากความทุกข์ โดยมีจุดหมายสูงสุด คือ นิพพาน ความจริงขั้นสูงสุดที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบ มี ๔ ประการคือ
ทุกข์ : ( ธรรมที่ควรรู้ ) 
|
หมายถึง สภาพที่ทนอยู่ได้ยากทั้งกายและจิตใจ สิ่งที่ควรกำหนดรู้ตามความเป็นจริง ซึ่งหลักธรรมที่เกี่ยวกับทุกข์นั้นประกอบด้วย
ขันธ์ ๕ หรือเบญจขันธ์ เป็นหลักธรรมที่สอนเกี่ยวกับองค์ประกอบของร่างกายมนุษย์ หรือสัตว์ตัวตนของเรา และคนอื่น มีองค์ประกอบ ๕ อย่าง ได้แก่ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์
ไตรลักษณ์ หมายถึง ลักษณะ ๓ ประการ ของชีวิต ชีวิติทุกชีวิตต้องมีลักษณะทั้ง ๓ ประการนี้ เหมือนกันหมด จึงเรียกลักษณะ ๓ ประการนี้ว่า สามัญลักษณะ ซึ่งหมายถึง ลักษณะทั่วๆไปหรือลักษณะที่เสมอกัน เท่ากัน หรือเหมือนกันของชีวิต ได้แก่
๑. อนิจจตา หรือ อนิจจัง คือ ความไม่เที่ยงของสิ่งทั้งปวง ไม่ว่าร่างกาย จิตใจ วัตถุหรือบุคคลทั่วไปล้วนเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง
๒. ทุกขตา หรือ ทุกขัง คือ ความเป็นทุกข์ ซึ่งความทุกข์ในไตรลักษณ์ หมายรวมถึง ความทุกข์ทุกรูปแบบทั้งทุกขเวทนาในขันธ์ ๕ และทุกข์ในอริยสัจ ๔
๓. อนัตตตา หรือ อนัตตา คือ ความไม่มีตัวตน หมายถึง สิ่งทั้งหลาย ทั้งรูปธรรม และนามธรรม ล้วนไม่มีตัวตน
สมุทัย : ( ธรรมที่ควรละ ) 
|
หมายถึง สาเหตุแห่งทุกข์เป็นสิ่งที่ควรละ ควรหลีกเลี่ยง หลักธรรมที่สอดคล้องกับสมุทัย คือ
หลักกรรม คือ การกระทำทางกาย วาจา หรือใจที่ประกอบด้วยเจตนา หรือการกระทำที่เป็นไปด้วยความจริง ดังพุทธวจนะตรัสไว้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวเจตนาว่าเป็นกรรม บุคคลจงใจแล้วย่อมกระทำทางกาย ทางวาจา และทางใจ”
กรรม มี ๒ ประเภท คือ กรรมที่กระทำทางใจ
๑. กุสลกรรม คือ กรรมดี ได้แก่ กรรมที่กระทำ โดยไม่มีความโลภ โกรธ หลง เป็นแรงจูงใจ ไม่โลภ เช่น รักษาศีล การให้ทานเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่คนอื่นด้วยจิตบริสุทธิ์
๒. อกุศลกรรม คือ กรรมชั่ว ได้แก่ การกระทำที่ประกอบด้วยความโลภ โกรธ หลง (กิเลส) หรือ กลั่นแกล้งคนอื่นด้วยความโกรธแค้น ให้ทานเพื่อหวังได้หน้า
วัฏฏะ ๓
วัฏฏะ หรือ ไตรวัฏฏ์ แปลว่า วงวน หรือวงจร หมุนเวียนสืบทอดต่อ ๆ กันไป ทำให้มีการเวียนว่ายตายเกิดเป็นวงจรหมุน ไป ได้แก่
๑. กิเลสวัฏฏ์ ประกอบด้วย อวิชชา ตัณหา อุปาทาน คือ ความโลภ ความโกรธ และความหลง
๒. กรรมวัฏฏ์ ประกอบด้วย สังขาร ภพ คือ การกกระทำที่มีเจตนามี ๒ ประเภท คือ อกุศลกรรมหรือกรรมชั่ว และกุศลกรรมหรือกรรมดี กรรมทั้ง ๒ ประเภทนี้ สามารถแสดงออกได้ ๓ ทาง คือ ทางกาย เรียกว่า กายกรรม ทางวาจา เรียกว่า วจีกรรม และ ทางใจ เรียกว่า มโนกรรม
๓. วิบากวัฏฏ์ ประกอบด้วย วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา ชาติ ชรามรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสอุปยาส คือ ผลของการหรือผลของการกระทำ กระทำอย่างใดไว้ก็จะได้รับผลของกรรมนั้น นั่นคือ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว
ปปัญจธรรม ๓ หมายถึง กิเลสเครื่องเนิ่นช้า หรือกิเลสที่เป็นตัวการทำให้ห่างออกไปจากความเป็นจริงที่ง่าย ๆ เปิดเผย ก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ และขัดขวางไม่ให้เข้าถึงความจริง หรือทำให้ไม่อาจแก้ปัญหาอย่างถูกทางตรงไปตรงมาได้ มี ๓ ประการ คือ
๑. ตัณหา คือ ความทะยานอยากได้ ความปรารถนาที่จะบำเรอปรนเปรอตน
๒. มานะ คือ ความถือตัว ความสำคัญตนว่าเป็นนั้นเป็นนี้ ถือสูงถือต่ำยิ่งใหญ่เท่าเทียมหรือด้อยว่าผู้อื่น ความอยากเด่นอยากยกชูตนเองให้ยิ่งใหญ่
๓. ทิฏฐิ คือ ความคิดเห็น ความเชื่อถือในลัทธิ ทฤษฎี อุดมการณ์ต่าง ๆ ที่ยึดถือไว้โดยงมงาย หรือโดยคิดว่าของตนเท่านั้นถูกของคนอื่นผิด ทำให้ปิดตัวเองแคบ ไม่ยอมฟังใครปิดโอกาสที่จะเสริมสร้างปัญญาได้

นิโรธ : ( ธรรมที่ควรบรรลุ ) 
|
หมายถึง การดับสนิทของทุกข์ ธรรมที่ควรทำให้รู้แจ้งธรรมที่สอดคล้องกับนิโรธ คือ
อัตถะ ๓ หมายถึง สิ่งที่มุ่งหมาย หรือสิ่งที่คาดหวังในประโยชน์ที่จะได้รับ อัตถะตึงเป็นธรรมที่ควรปฏิบัติให้บรรลุ เพราะว่าเป็นผลที่ตนเองและผู้อื่นได้รับประโยชน์ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต
๑. ทิฏฐธัมมิกัตถะ คือ ประโยชน์ปัจจุบัน ประโยชน์ในโลกนี้ หรือ ประโยชน์ขั้นต้น
๒. สัมปรายิกัตถะ คือ ประโยชน์เบื้องหน้า ประโยชน์ภพหน้า หรือประโยชน์ขั้นสูงขึ้นไป
๓. ปรมัตถะ คือ ประโยชน์สูงสุด หรือที่เป็นสาระแท้จริงของชีวิต จุดมุ่งหมายสูงสุด คือ พระนิพพาน
ประโยชน์ควรปฏิบัติในอัตถะอีกอย่างหนึ่งคือ
- อัตตัตถะ ประโยชน์ของตนเองที่จะได้รับ - ปรัตถะ ประโยชน์ของผู้อื่นที่จะได้รับ- อุภยัตถะ ประโยชน์ที่จะได้รับทั้งสองฝ่าย
มรรค : ( ธรรมที่ควรเจริญ ) 
|
หมายถึง ธรรมที่ควรปฏิบัติให้ถึงการดับทุกข์ หรือแนวทางที่สมควรเจริญให้เกิดขึ้น ซึ่งมีหลักธรรมที่เกี่ยวข้องคือ
มรรคมีองค์ ๘ แปลว่า ทางปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ มีองค์แปดประการอันประเสริฐ ดังนี้
๑. สัมมาทิฏฐิ คือความเห็นชอบ ๒. สัมมาสังกัปปะ คือ ความคิดชอบ
๓. สัมมาวาจา คือ การพูดชอบ ๔. สัมมากัมมันตะ คือ การทำงานชอบ
๕. สัมมาอาชีวะ คือ การเลี้ยงชีพชอบ ๖. สัมมาวายามะ คือ ความเพียรพยายามชอบ
๗. สัมมาสติ คือ ความระลึกชอบ ๘. สัมมาสมาธิ คือ ความตั้งใจมั่นชอบ
ปัญญา ๓ หมายถึง ความรอบรู้ในเรื่องโลกและชีวิต รู้ตามสภาพความเป็นจริง บางครั้งรียกว่า สติปัญญา ปัญญาแบ่งตามแหล่งกำเนิดออกได้ ๓ ประเภท คือ
๑. สุตมยปัญญา คือ ปัญญาเกิดจากการฟัง และการเล่าเรียน
๒. จินตามยปัญญา คือ ปัญญาที่เกิดจากการคิด การพิจารณาจากเหตุผล
๓. ภาวนามยปัญญา คือ ปัญญาเกิดจากการฝึกฝนอบรมแล้วลงมือปฏิบัติ
สัปปุริสธรรม ๗ หมายถึง หลักธรรมสำหรับคนดี หรือคุณธรรมที่ทำให้ผู้ปฏิบัติเป็นคนดี มี 7 ประการ ได้แก่
๑. ธัมมัญญุตา คือ การรู้จักเหตุ ได้แก่ รู้จักว่าสิ่งนี้เป็นเหตุของสิ่งนั้น สิ่งนั้นเป็นเหตุของสิ่งนี้ เช่น รู้ว่าการไม่ตั้งใจเรียน ไม่ขยันอ่านหนังสือ จะทำให้สอบไม่ได้ หรือสอบตก เป็นต้น
๒. อัตถัญญุตา คือ การรู้จักผล ได้แก่ รู้จักว่าผลอันนี้เกิดจากเหตุอันนี้ เช่น เมื่อสอบได้คะแนนไม่ดีหรือสอบตกก็รู้ว่ามีสาเหตุมาจากการไม่ตั้งใจเรียน ไม่ขยันอ่านหนังสือ เป็นต้น
๓. อัตตัญญุตา คือ การรู้จักตน ได้แก่ รู้จักตนเองว่ามีฐานะเป็นอย่างไร มีความถนัดด้านใด มีความสามารถแค่ไหน เป็นต้น แล้วประพฤติปฏิบัติให้เหมาะสมกับฐานะของตน
๔. มัตตัญญุตา คือ การรู้จักประมาณ ได้แก่ รู้จักความพอดีในสิ่งต่าง ๆ เช่น รู้จักใช้จ่ายให้พอดีกับฐานะการเงินของตน ความต้องการของร่างกาย เป็นต้น
๕. กาลัญญุตา คือ การรู้จักกาลเวลา ได้แก่ รู้จักว่าเวลาไหนควรทำหรือควรพูดสิ่งใดจึงจะมีความเหมาะสม รู้จักแบ่งเวลาให้ถูก เช่น ในขณะที่เป็นนักเรียนควรแบ่งเวลา ให้ถูกว่าจะทำสิ่งใดก่อนหลัง เป็นต้น
๖. ปุริสัญญุตา คือ การรู้จักชุมชนหรือสังคม ได้แก่ รู้จักว่าชุมชนหรือสังคมนั้นเป็นอย่างไรจะต้องปฏิบัติตนอย่างไรจึงจะเหมาะสมกับชุมชนนั้นโดยไม่เก้อเขิน เช่น เมื่อร่วมงานแต่งงาน จะต้องแต่งกายด้วยชุดใด พูดอย่างไร และทำอย่างไร จึงจะเหมาะสม เป็นต้น
๗. ปุคคลัญญุตา คือ การรู้จักคน ได้แก่ รู้จักบุคคลแต่คนว่ามีลักษณะนิสัยอย่างไร มีความสามารถในด้านใด ชอบหรือไม่ชอบอะไร แล้วปฏิบัติต่อบุคคลนั้นได้อย่างถูกต้องเหมาะสม
บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ หมายถึง สิ่งที่เป็นที่ตั้งแห่งการทำบุญหรือการทำความดี หรือวิธีการทำความดีในพระพุทะศาสนา มี ๑๐ วิธี ได้แก่
๑. ทานมัย คือ บุญสำเร็จด้วยการให้ทาน
๒. สีลมัย คือ บุญสำเร็จด้วยการรักษาศีลและประพฤติดี
๓. ภาวนามัย คือ บุญสำเร็จด้วยการเจริญภาวนา
๔. อปจายนมัย คือ บุญสำเร็จด้วยการประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ใหญ่
๕. เวยยวัจจมัย คือ บุญสำเร็จด้วยการช่วยขวนขวายในกิจการงานต่าง ๆ
๖. ปัตติทานมัย คือ บุญสำเร็จด้วยการอนุโมทนา
๗. ปัตตานุโมทนามัย คือ บุญสำเร็จด้วยการฟังธรรม
๘. ธัมมัสสวนมัย คือ บุญสำเร็จด้วยการฟังธรรม
๙. ธัมมเทสนามัย คือ บุญสำเร็จด้วยการแสดงธรรม
๑๐. ทิฏฐุชุกรรม คือ การทำความเห็นให้ตรง
อุบาสกธรรม ๗ หมายถึง ธรรมหรือหลักปฏิบัติที่เป็นไปเพื่อความเจริญของอุบาสกหรือผู้ที่นับถือพระพุทธศาสนา ซึ่งได้แก่ชาวพุทธทั่ว ๆ ไป มี ๗ ประการ ได้แก่
๑. ไม่ขาดการเยี่ยมเยือนพบปะพระภิกษุ
๒. ไม่ละเลยการฟังธรรม
๓. ศึกษาในอธิศีล
๔. มากด้วยความเลื่อมใสในภิกษุทั้งหลาย ทั้งที่เป็นพระเถระ และพระนวกะ
๕. ไม่ฟังธรรมด้วยตั้งใจจะคอยเพ่งโทษติเตียน
๖. ไม่แสวงหาทักขิไณยภายนอกหลักคำสอนนี้
๗. สนับสนุนในการพระศาสนาเป็นเบื้องต้น คือ ขวนขวายในการอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนา
มงคล ๓๘
มงคล คือ สิ่งที่ทำให้ชีวิตมีแต่ความโชคดี ตามหลักพระพุทธศาสนา หมายถึง หลักปฏิบัติที่นำ ความสุขและความเจริญมาให้แก่ผู้ปฏิบัติ มี ๓๘ ประการ ในชั้นนี้กำหนดให้ศึกษาเพียง ๔เรื่อง คือ
มงคลที่ ๘ มีศิลปวิทยา ( สิปฺปญฺจ )
ศิลปะ แปลว่า การแสดงให้ปรากฏขึ้นอย่างงดงามน่าพึงชม หรือฉลาดทำ หมายถึง คิดเป็น พูดเป็น ทำเป็น นั่นเอง
พหูสูตนั้นเป็นผู้ฉลาดรู้ เรียนรู้ในหลักวิชา รู้ว่าอะไรทำอย่างไร ส่วนศิลปะ เป็นความสามารถในทางปฏิบัติ คือ สามารถนำความรู้นั้นมาใช้ให้บังเกิดผลได้ ดังคำกล่าวที่ว่า“ ศิลปะแม้พียงอย่างใดอย่างหนึ่งก็ยังประโยชน์ให้สำเร็จได้ ” หรือ “ ผู้มีศิลปะ แม้เพียงอย่างเดียวก็หาเลี้ยงชีพโดยง่าย ”
มงคลที่ ๒๖ การฟังธรรมตามกาล ( กาเลน ธมฺมสฺสวนํ )
เมื่อมีโอกาสและเวลา ก็ควรต้อง ไปฟังธรรมบ้าง เพื่อรับฟังธรรม และนำมาใช้ในการดำเนินชีวิตให้ดีขึ้น ท่านว่าเวลาที่ควรฟังธรรมนั้นมี ดังนี้
- วันธรรมสวนะ หรือ วันพระ หรือวันสำคัญทางศาสนา
- เมื่อมีผู้มาแสดงธรรม เช่น การแสดงธรรมตามวิทยุและพระมาแสดงธรรมตามสถานที่ต่าง ๆ
- เมื่อมีโอกาสอันสมควร เช่น วันอาทิตย์เมื่อมีเวลาว่างหรือในงานมงคล งานบวช งานกฐิน งานวัด เป็นต้น
มงคลจากการฟังธรรม คือ ได้ฟังในสิ่งที่ไม่เคยฟัง ฟังแล้วเข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้น ขจัดความสงสัยให้หมดไป เดความเห็นที่ถูกต้อง และทำให้จิตใจผ่องใส
มงคลที่ ๒๙ การได้เห็นสมณะ ( สมณานญฺจ ทสฺสนํ )
สมณะ แปลว่า ผู้สงบ หมายถึง บรรพชิตที่ได้บำเพ็ญสมณธรรม ฝึกฝนตนเองด้วยศีล สมาธิ ปัญญา มาแล้วอย่างเต็มที่ จนกระทั่งมีกาย วาจา ใจ สงบแล้วจากบาป สมณะทุกรูปจึงต้องเป็นบรรพชิต แต่บรรพชิตบางรูปอาจไม่ได้เป็นสมณะก็ได้
ประเภทของการพบเห็นสมณะ
สมณะหรือผู้สงบระงับจากบาปทั้งปวง มี ๒ ประเภท คือ
สมณบุคคล คือ รูปร่างตัวตนที่เป็นสมณะ
สมณธรรม คือ คุณงามความดีที่มีอยู่ในตัวสมณะบุคคล
การพบเห็นสมณะ เราต้องพบเห็นสมณะบุคคลและสมณธรรม จึงจะได้ชื่อว่า พบเห็นสมณะโดยสมบูรณ์ การพบเห็นสมณะนั้นมี ๒ ประเภท คือ
๑. การพบเห็นด้วยตา คือการพบเห็นสมณะหรือพระภิกษุสงฆ์ โดยการมองเห็นแล้วผ่านไป เช่น เห็นพระภิกษุสงฆ์เดินบิณฑบาตในตอนเช้า เป็นต้น ไม่ได้ฟังหรือสนทนาธรรมกับท่าน
๒. การพบเห็นด้วยปัญญา คือ การพบเห็นโดยอาศัยปัญญา ได้พบปะสนทนากับสมณะ ได้เรียนรู้ศึกษาธรรม เกิดความสงบและกำจัดกิเลสให้เบาบางลงได้
มงคลจากการพบเห็นสมณะ
การพบเห็นสมณะเป็นมงคล คือ เกิดความเลื่อมใสในวัตรปฏิบัติของท่าน ได้รับรู้ธรรมที่ท่านสอน และเกิดกำลังใจในการนำหลักธรรมไปปฏิบัติ ทำให้เกิดความสุขความเจริญต่อชีวิต
มงคลที่ ๓๐ การสนทนาธรรมตามกาล
๑. ความหมายของการสนทนาธรรมตามกาล คือ การพูดคุย แลกเปลี่ยนความรู้เรื่องธรรมะระหว่างกัน ตามโอกาสต่าง ๆ เช่นเมื่อเกิดความสงสัย เพื่อให้เกิดความเข้าใจแจ่มแจ้งเกิดปัญญา และมีจิตใจเบิกบานแจ่มใส
๒. หลักการสนทนาธรรมตามกาล คือ สนทนาในสิ่งที่ยังไม่รู้ สนทนาในสิ่งที่ยังสงสัยไม่แน่ใจ และสนทนาเพื่อสืบสวนหาความจริงด้วยเหตุผล
มงคลจากการสนทนาธรรม คือ กำจัดข้อสงสัย จิตใจเบิกบาน และได้รับความรู้ทางธรรมกว้างขวางยิ่งขึ้น

|